เสาร์ที่ 23 มีนาคม 2556 13:51:00 น.
23 มี.ค.56ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28-29 มี.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสวิพาก์วิจารณ์จากหลายฝ่าย
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในครั้งนี้ได้เสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติ พร้อมด้วยเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งมีโครงการต่างๆ ซึ่งสอดรับอยู่ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ประการ ยุทธศาสตร์ในเรื่องของการที่จะปรับเปลี่ยนระบบขนส่งจากที่เน้นหนักในเรื่องของถนนไปสู่ระบบขนส่งที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า ยุทธศาสตร์ในเรื่องของการที่จะจัดความเชื่อมโยงในการขนส่งทั้งภายในประเทศ ในจุดสำคัญ ในภูมิภาคในประเทศไทย และจุดเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และยุทธศาสตร์ในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เดินทางและการขนส่งสินค้า ซึ่งโครงการต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอเอาไว้ ในเอกสารประกอบการพิจารณา
ถามว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจออกเป็นพระราชบัญญัติมีความโปร่งใสอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทุกๆ ประการ แต่ส่วนสำคัญคือว่าจะทำให้กรอบมิติของระยะเวลามีความต่อเนื่อง โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เวลาหลายปี เมื่อมีการอนุมัติก็เกิดความชัดเจนว่า สามารถดำเนินการได้ เพราะได้รับความเห็นชอบจากระบบรัฐสภาแล้ว ซึ่งก็จะเป็นความโปร่งใสด้วย
“ท้ายที่สุดประชาชนสามารถที่จะติดตามเป็นหูเป็นตาว่าโครงการใดดีหรือไม่ดีแค่ไหน ส่วนกระบวนการที่ได้มีการปรับการคำนวณราคากลางใหม่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลปัจจุบัน ที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่ามีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ง่าย และมีกระบวนการที่จะต้องเปิดเผยราคากลาง รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างทั้งในฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดที่ใช้งบประมาณกับหน่วยงานกรมบัญชีกลางที่กระทรวงการคลังด้วย ความโปร่งใสในมาตรฐานใหม่นั้นสูงขึ้นกว่าที่เคยปฏิบัติไว้ในปีก่อน ๆ
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ออกมาเป็นพระราชบัญญัติแยกต่างหากจากงบประมาณปกติ โดยการทำให้ไม่เห็นตัวเลขที่แท้จริงของหนี้สาธารณะของจริงหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตรงกันข้ามจะทำให้เห็นตัวเลขที่แท้จริงของแผนการลงทุนทั้งสิ้น ในการพิจารณาคณะรัฐมนตรีได้ซักถามเรื่องนี้ ปลัดกระทรวงการคลังก็ได้เข้าชี้แจงเองในที่ประชุม รวมทั้ง ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ยืนยันว่าระดับหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้น ทั้งหมดก็จะอยู่ในเพดานไม่เกินร้อยละ 50% ของ GDP เราจะไม่ยอมเกินเพดานร้อยละ 60% ช่วงห่างร้อยละ 10 ของ GDP ถือว่าเป็นความเข้มแข็งที่ดีมาก
เมื่อถามว่า หากกู้เงินมา2 ล้านล้านบาท แล้วจะมีระยะเวลาในการชำระหนี้เท่าไหร่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า 10 ปีแรก ในขณะที่โครงการต่างๆ ดำเนินการก่อสร้างอยู่ ขอชำระในช่วงของดอกเบี้ยไปก่อน ขึ้นปีที่ 11 จะเริ่มชำระเงินต้นโดยลำดับ และการชำระเงินต้นช้าๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของงบประมาณ สำหรับรัฐบาลในอนาคต การที่หนี้เงินต้นจะค่อย ๆ ลดลงเป็นอย่างไร จนในที่สุดจะเหลือ 0 ภายในระยะเวลาไม่เกิน 50 ปี